อีก 1 ช่องทางในการติดต่อ

วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ยาสีพระทนต์ของในหลวง


เดือนนี้ขอพักจากความรู้เรื่องสุขภาพช่องปาก ขออนุญาตนำข้อเขียนของคุณจิก ประภาส ชลศรานนท์ ซึ่งตีพิมพ์ในคอลัมน์
"คุยกับประภาส" หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๓ เกี่ยวกับ "ยาสีพระทนต์ของในหลวง" มาให้ได้อ่านกันครับ

"มีภาพๆหนึ่งเอามาให้ดูกัน เป็นภาพหลอดยาสีฟันที่ถูกใช้แล้ว เห็นทีแรกไกลๆ ก็ไม่รู้สึกอะไรมากหรอก เป็นภาพที่ติดอยู่บนบอร์ดที่โรงเรียนของลูก ระหว่างที่ยืนรอลูกๆ ลงมาจากห้องเรียน จึงได้อ่านข้อความที่ประกอบภาพนี้อย่างละเอียด ภาพหลอดยาสีฟันที่เห็นนี้ ต้องเรียกว่าเป็นหลอดยาสีพระทนต์ประวัติศาสตร์ เพราะนี่คือหลอดยาสีพระทนต์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เห็นแล้วรู้สึกเหมือนผมไหมครับ ความฉ่ำเย็นจากที่ไหนก็ไม่รู้อาบลงมากลางกระหม่อมเลย"

ภาพนี้ถูกตีพิมพ์เป็นโปสเตอร์โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ครูที่โรงเรียนของลูกผมไปพบเข้า เลยนำมาถ่ายสำเนาติดบอร์ดให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจคำว่า "ประหยัด"

ศาสตราจารย์พิเศษทันตแพทย์หญิงท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์ อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนเล่าให้ฟังว่า
"ครั้งหนึ่งทันตแพทย์ประจำพระองค์กราบถวายบังคมทูล เรื่องศิษย์ทันตแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางคนมีค่านิยมในการใช้ของต่างประเทศและมีราคาแพง รายที่ไม่มีทรัพย์พอซื้อหาก็ยังขวนขวาย เช่ามาใช้เป็นการชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งเท่าที่ทราบมา มีความแตกต่างจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงนิยมใช้กระเป๋าที่ผลิตภายในประเทศเช่นสามัญชนทั่วไป ทรงใช้ดินสอสั้นจนต้องต่อด้าม แม้ยาสีพระทนต์ของพระองค์ท่าน ก็ทรงใช้ด้ามแปรงพระทนต์รีดหลอดยาจนแบน จนแน่ใจว่าไม่มียาสีพระทนต์หลงเหลืออยู่ในหลอดจริงๆ"

เมื่อกราบบังคมทูลเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า ของพระองค์ท่านก็เหมือนกัน และยังทรงรับสั่งต่อไปด้วยอีกว่า เมื่อไม่นานมานี้เอง มหาดเล็กห้องสรง เห็นว่ายาสีพระทนต์ของพระองค์คงใช้หมดแล้วจึงได้นำหลอดใหม่มาเปลี่ยนให้แทน เมื่อพระองค์ได้ทรงทราบ ก็ได้ขอให้เขานำยาสีพระทนต์หลอดเก่ามาคืน และพระองค์ท่านยังทรงสามารถใช้ต่อไปได้อีกถึง 5 วัน จะเห็นได้ว่าในส่วนของพระองค์ท่านเองนั้นทรงประหยัดอย่างยิ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงพระราชทานเพื่อราษฎรผู้ยากไร้อยู่เป็นนิจ พระจริยาวัตรของพระองค์ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มชัดถึง พระวิริยะ อุตสาหะ ตลอดจนความประหยัดในการใช้ของอย่างคุ้มค่า

หลังจากนั้นทันตแพทย์ประจำพระองค์ได้กราบพระบาททูลขอพระราชทานหลอดยาสีพระทนต์หลอดนั้น เพื่อนำไปให้ศิษย์ได้เห็นและรับใส่เกล้าเป็นตัวอย่าง เพื่อประพฤติปฏิบัติในโอกาสต่อๆ ไป

ประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานส่งหลอดยาสีพระทนต์เปล่าหลอดนั้นมาให้ถึงบ้าน ทันตแพทย์ประจำพระองค์รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้ายิ่ง เมื่อได้พิจารณาถึงลักษณะของหลอดยาสีพระทนต์เปล่าหลอดนั้นแล้วทำให้เกิดความ สงสัยว่าเหตุใดหลอดยาสีพระทนต์หลอดนี้จึงแบนราบเรียบโดยตลอดคล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอดยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปเกือบถึงเกลียวคอหลอด เมื่อได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอีกครั้งในเวลาต่อมา จึงได้รับคำอธิบายจากพระองค์ว่า
"หลอดยาสีพระทนต์ที่เห็น แบนเรียบนั้นเป็นผลจากการใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ ช่วยรีดและกดจนเป็นรอยบุ๋มที่เห็นนั่นเอง"
และเพื่อที่จะขอนำไปแสดงให้ศิษย์ทันตแพทย์ได้เห็นเป็นอุทาหรณ์ จึงได้ขอพระราชานุญาตซึ่งพระองค์ท่านก็ได้ทรงพระเมตตาด้วยความเต็มพระทัย

ผมมีโอกาสได้ยืนมองดูรูปหลอดยาสีพระทนต์หลอดนี้อยู่เนืองๆเวลาไปรอรับลูกที่โรงเรียน และเมื่อยิ่งดูก็ยิ่งได้รับรู้ถึงปรัชญาที่พระองค์พระราชทานผ่านมาทางหลอดยาฯนี้ แล้วผมก็พบว่าแก่นแท้ของการประหยัดมันอยู่ตรงนี้นี่เอง ไม่ใช่ไม่ยอมใช้เลย แต่ต้องรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ใช้แบบเหลือทิ้งเหลือขว้าง และทำให้ผมคิดไปถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติบนโลกใบนี้ หลอดยาสีพระทนต์ของในหลวงหลอดนี้สอนผมให้เข้าใจว่า ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์เรายังคงต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่อ ไม่ใช่ไม่ใช้เลย แต่จะใช้อย่างไรมากกว่า


หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก
สามารถเขียนเข้ามาถามได้ที่ dental.d.clinic@gmail.com

และสำหรับผู้ใช้ Facebook สามารถเข้ามาเยี่ยมกันได้ที่
www.facebook.com/dentaldclinic

สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็น สอบถามเกี่ยวกับการรักษาได้ที่
Facebook ได้เหมือนกัน
อย่าลืมกด 'Like' เพื่อติดตามข่าวสารต่างๆของทางคลินิกด้วยนะครับ


ทพ.ศิลา จิรวัฒโนทัย

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การขึ้นของฟันน้ำนมและการดูแลสุขภาพช่องปากในเด็กเล็ก

การขึ้นของฟันน้ำนมนั้น เริ่มตั้งแต่เด็กอายุได้ประมาณ 7-9 เดือนโดยจะเริ่มจากฟันหน้าแล้วไล่เข้าไปด้านหลัง ยกเว้นฟันเขี้ยว (ซี่ที่ 3 จากตรงกลาง) จะขึ้นทีหลังฟันกรามเล็กน้อย

โดยจะขึ้นครบทั้ง 20 ซี่เมื่อเด็กอายุประมาณ 2 ขวบนิดๆ โดยฟันแต่ละซี่จะอยู่ในช่องปากนานไม่เท่ากัน ซี่แรกจะเริ่มหลุดเมื่ออายุประมาณ 6 ขวบ และซี่สุดท้ายจะหลุดช่วงอายุประมาณ 12 ขวบ

ขณะที่กว่าฟันจะเริ่มขึ้น เมื่อเด็กมีอายุเกือบๆ 1 ขวบแล้วนั้น การดูแลสุขภาพช่องปากจะต้องเริ่มมาก่อนหน้านั้นนานมากครับ

คำถามคือ.. อ้าว..ก็ฟันยังไม่ขึ้น จะต้องดูแลอะไร ?

คำตอบง่ายนิดเดียว.. เหงือกไงครับ

การดูแลเหงือกให้สะอาดทำได้หลายวิธีครับ เช่น

1. ให้เด็กดูดน้ำสะอาดตาม หลังจากดูดนม (ทั้งนมแม่และนมขวด)

2. ฝึกไม่ให้เด็กหลับคาขวดนม

3. ผู้ปกครองใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น เช็ดบริเวณเหงือกทุกครั้งหลังการรับประทานอาหาร

ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำความสะอาดให้เด็กแล้ว ยังเป็นการฝึกนิสัยในการทำความสะอาดให้เด็กมีความคุ้นเคยอีกด้วย

หลังจากที่ฟันขึ้นมาแล้ว ควรเริ่มหัดแปรงฟันโดยช่วงแรกยังไม่ควรใช้ยาสีฟันนะครับ หรือถ้าจะใช้ก็ให้เลือกชนิดที่กลืนได้ (มักมีขายอยู่ในแผนกสินค้าเด็กอ่อน) เนื่องจากเด็กอาจยังไม่คุ้นเคยกับการบ้วนทิ้ง

เช่นเดียวกับน้ำที่ใช้บ้วน ช่วงแรกควรเป็นน้ำต้มสุกก่อน หลังจากที่เด็กคุ้นเคยกับการบ้วนทิ้งแล้วจึงเปลี่ยนมาใช้ยาสีฟันกับน้ำธรรมดาได้โดยใช้ปริมาณยาสีฟันแต่น้อย (ประมาณเม็ดถั่วเขียว)

การหัดแปรงควรแปรงด้วยกันกับลูกในลักษณะของการทำให้ดู หลังจากลูกแปรงเสร็จแล้ว ผู้ปกครองยังคงจะต้องแปรงซ้ำให้ด้วยนะครับ เพราะการควบคุมข้อมือของเด็ก จะยังทำได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ (การควบคุมกล้ามเนื้อมือของเด็กจะสมบูรณ์ประมาณ 8 ขวบ)

อธิบายให้เห็นภาพก็คือ แปรงกับใจ ไปคนละทาง... ดังนั้น ผู้ปกครองควรตรวจการแปรงฟันของเด็กเสมอครับ

ความเชื่อที่ผิดที่มักจะเกิดกับฟันน้ำนมก็คือ ผู้ปกครองหลายคนปล่อยให้ฟันน้ำนมของเด็กผุโดยไม่รักษา เพราะคิดว่าเดี๋ยวมันก็หลุด หรือเมื่อมารักษาก็จะให้ถอนทิ้งไปเลย (ไว้รอแก้ตัวใหม่กับฟันแท้)

จากในภาพจะเห็นว่าฟันบางซี่ (โดยเฉพาะฟันกราม) จะต้องอยู่ในปากเด็กไปจนถึงช่วงอายุ 11-12 ปี (ประมาณ ม.1) นั่นหมายถึง ถ้าเด็กถูกถอนฟันไปเร็ว เด็กอาจต้องมีช่องว่างอยู่นานกว่าฟันแท้จะขึ้นมาแทนที่

ดังนั้น การสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนเวลาอาจทำให้เกิดผลเสียตามมาได้หลายอย่าง เช่น

1. การเคี้ยวอาหารทำได้ลำบากขึ้น หรือการออกเสียงพูดผิดเพี้ยนไป ทำให้พูดไม่ชัดไปจนโต

2. เวลาการขึ้นของฟันแท้ผิดปกติไป

3. ฟันแท้ซี่ข้างเคียงที่ขึ้นมาก่อน อาจล้ม-เลื่อนเข้าหาช่องว่าง ทำให้ฟันที่ควรจะขึ้นมาแทนตำแหน่งนั้นขึ้นไม่ได้

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากเพิ่มเติม

สามารถเขียนเข้ามาถามได้ที่ dental.d.clinic@gmail.com

และสำหรับผู้ใช้ Facebook สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็น สอบถามเกี่ยวกับการรักษาได้ที่

www.facebook.com/dentaldclinic

ได้เหมือนกัน

อย่าลืมกด 'Like' เพื่อติดตามข่าวสารต่างๆของทางคลินิกด้วยนะครับ

ทพ.ศิลา จิรวัฒโนทัย

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

กลิ่นปาก

อุปสรรคสำคัญในการเข้าสังคม พบปะเพื่อนฝูง ที่หมอมักพบจากคำบอกเล่าของคนไข้บ่อยๆคือเรื่อง กลิ่นปาก ครับ คนไข้บางคนกังวลมากจนไม่กล้าพูดคุยกับใคร (แม้แต่กับหมอ)

แน่นอนว่าคนที่มีกลิ่นปากนั้น ถ้ารู้ตัวก็จะทำให้ไม่มีความมั่นใจในการพูดคุย แต่หากไม่รู้ตัวก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ครับ คนรอบข้างอาจพากันหนีหน้าได้

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีกลิ่นปาก ?

วิธีตรวจด้วยตัวเองสามารถทำได้โดย เอามือป้องปาก-จมูกให้สนิท หลังจากนั้นให้หายใจออกทางปากแรงๆ ยาวๆ แล้วหายใจเข้าทางจมูกโดยไม่ต้องเปิดมือออกครับ

แต่หากเรามีอาการอักเสบของโพรงจมูก (ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของกลิ่นปากด้วย) ร่วมด้วย ก็อาจจะไม่ได้กลิ่นได้

ดังนั้น วิธีที่ดีและให้ผลแน่นอนในการตรวจก็คือ ถามคนใกล้ชิด ให้เขาบอกมาตามตรงนั่นแหละครับ ง่ายที่สุด

กลิ่นปากเกิดจากอะไร ?

ทีนี้.. สมมติว่ามีคนใกล้ชิดคอนเฟิร์มแล้วว่าเรามีกลิ่นปากจริงๆ การจะแก้ไขก็คงต้องมาดูที่สาเหตุกันก่อนครับ

สาเหตุของการเกิดกลิ่นปากนั้นอาจมาได้จากทั้งภายใน และภายนอกช่องปากครับ

สาเหตุจากภายในช่องปาก เช่น

1. การทำความสะอาดช่องปากไม่ดี มีเศษอาหารตกค้างบนผิวฟัน ตามซอกฟัน และบนผิวลิ้น (อย่าลืมแปรงลิ้นด้วยนะครับ)

2. การดื่มน้ำน้อยเกินไป จะทำให้น้ำลายน้อยและข้นขึ้น

3. มีฟันผุในปาก ตัวฟันผุเองก็มีกลิ่นอยู่แล้ว แถมรูที่ผุยังเป็นจุดกักเศษอาหารด้วยครับ

4. เหงือกอักเสบ

5. กลิ่นจากฟันปลอม

สาเหตุจากภายนอกช่องปาก

1. การทานอาหารที่มีกลิ่น เช่นกระเทียม สะตอ

2. การสูบบุหรี่ นอกจากควันบุหรี่จะมีกลิ่นรุนแรงแล้ว คราบบุหรี่บนฟันก็เป็นบริเวณที่เกิดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดกลิ่นได้ด้วย

3. การอักเสบของเนื้อเยื่ออื่นๆใกล้เคียงช่องปาก โรคของระบบทางเดินหายใจ เช่นโพรงจมูกอักเสบ (ไซนัส) หรือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่นภาวะกรดไหลย้อน เป็นต้น

ส่วนวิธีป้องกันและแก้ไขการเกิดกลิ่นปากนั้นก็ไม่ยากครับ

1. ทำความสะอาดช่องปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันสม่ำเสมอ อย่างลืมแปรงลิ้นเวลาแปรงฟัน

2. ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว (น้ำเปล่าดีที่สุดครับ)

3. ตรวจฟันทุก 6 เดือน เพื่อตรวจเช็คบริเวณที่เราอาจทำความสะอาดไม่ทั่วถึง และตรวจหาฟันผุในระยะเริ่มต้น

4. ลดอาหารที่มีกลิ่นแรงลง หรือบ้วนปากทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร การเคี้ยวหมากฝรั่ง (แบบไม่มีน้ำตาล) จะช่วยได้ทั้งการทำความสะอาดฟันและกระตุ้นให้เราผลิตน้ำลายออกมามากขึ้น สามารถช่วยลดกลิ่นปากได้ แต่เคี้ยวเยอะไป ระวังกรามใหญ่นะครับ....

5. ลด-ละ-เลิกบุหรี่ และผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกชนิด

6. สำหรับผู้ใช้ฟันปลอม อย่าลืมทำความสะอาดฟันปลอมด้วยนะครับ ถอดล้างทุกครั้งหลังทานอาหาร และแปรงให้สะอาดทุกครั้งเมื่อถอดและก่อนใส่

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากเพิ่มเติม
สามารถเขียนเข้ามาถามได้ที่ dental.d.clinic@gmail.com

และสำหรับผู้ใช้ Facebook สามารถเข้ามาเยี่ยมกันได้ที่
www.facebook.com/dentaldclinic

สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็น สอบถามเกี่ยวกับการรักษาได้ที่
Facebook ได้เหมือนกัน
อย่าลืมกด 'Like' เพื่อติดตามข่าวสารต่างๆของทางคลินิกด้วยนะครับ

ทพ.ศิลา จิรวัฒโนทัย

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

น้ำลายและอาการปากแห้ง

น้ำลาย คือของเหลวที่ถูกผลิตขึ้นจากต่อมน้ำลาย ประกอบด้วยน้ำประมาณ 98% ส่วนที่เหลือเป็นอิเล็กโทรไลต์ เมือก สารยับยั้งแบคทีเรีย และเอนไซม์ชนิดต่างๆ เช่น เอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ที่สามารถย่อยแป้งให้กลายเป็นน้ำตาล และเอนไซม์ไลเพส (Lipase) ที่ช่วยย่อยไขมัน น้ำลายจึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการย่อยอาหาร

หน้าที่ที่ช่วยในการย่อยอาหารของน้ำลายอีกอย่างหนึ่ง คือทำให้อาหารเปียกและช่วยสร้างก้อนอาหารทำให้กลืนได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ น้ำลายยังช่วยชะล้างอาหารที่ติดอยู่ตามซอกฟันและปกป้องไม่ให้เกิดการเน่าเสียจากแบคทีเรีย ช่วยหล่อลื่นและปกป้องฟัน ลิ้น และเนื้อเยื่ออ่อนบางภายในช่องปาก

ในคนสุขภาพดี จะมีการผลิตน้ำลายออกมาประมาณ 0.75-1.5 ลิตรต่อวัน (เกือบทั้งหมดจะผลิตในช่วงที่เราตื่นเท่านั้น ขณะหลับการผลิตน้ำลายจะตกลงจนเกือบเป็นศูนย์)

แต่ขณะที่น้ำลายมีประโยชน์มากมาย ในทางกลับกัน น้ำลายก็ประกอบไปด้วยเซลล์แบคทีเรีย 500 ล้านเซลล์ต่อมิลลิลิตร ซึ่งผลผลิตของแบคทีเรียที่ถูกปล่อยปนกับน้ำลาย จะเป็นสาเหตุของอาการปากเหม็น (Halitosis) ได้ด้วยเหมือนกัน การกระตุ้นให้มีน้ำลายใหม่อยู่เสมอ การดูแลให้ปากสะอาด การดื่มน้ำสม่ำเสมอ การบ้วนปากหลังมื้ออาหาร จะช่วยแก้ไขในเรื่องของกลิ่นปากได้

อาการปากแห้งคืออะไร ?

อาการปากแห้ง หมายถึง สภาวะที่เรามีน้ำลายน้อยกว่าปกติ ทุกคนสามารถมีอาการปากแห้งได้เป็นครั้งคราว โดยเฉพาะเวลาที่เราตื่นเต้น กังวลใจ เสียใจหรือเครียด แต่หากเรามีอาการปากแห้งเป็นประจำ นอกจากจะทำให้รู้สึกไม่สบายปากแล้ว ยังอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆได้ เช่น การปล่อยทิ้งให้มีอาการปากแห้งนานๆ อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดเชื้อราในช่องปากได้ง่ายขึ้น มีปัญหาในการย่อยอาหาร ฟันผุง่าย มีกลิ่นปาก กลืนอาหารลำบาก เป็นต้น

เหตุที่ทำให้เกิดอาการปากแห้ง มักเกิดจากการที่ต่อมน้ำลายทำงานไม่ปกติซึ่งมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา

ยากว่า 400 ชนิด สามารถทำให้เกิดอาการปากแห้งได้ อาทิเช่น ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ปวด ยาขับปัสสาวะ และยาลดความดัน

โรคบางชนิด

โรคที่มีผลกระทบต่อต่อมน้ำลาย อาทิ โรคเบาหวาน โรคฮอดจ์กิน โรคพาร์กินสัน โรค HIV/AIDS และโรคตาแห้ง (Sjogren's syndrome)

การฉายรังสี

การฉายรังสีบริเวณศีรษะและลำคอ อาจทำลายต่อมน้ำลายได้ การสูญเสียน้ำลายอาจจะเป็นเพียงบางส่วนหรือทั้งหมดช่องปาก และอาจเป็นอาการชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเสียหายของต่อมน้ำลาย

เคมีบำบัด

ยาที่ใช้ในการรักษามะเร็งจะทำให้น้ำลายมีความเหนียวมากขึ้น ทำให้รู้สึกปากแห้ง

ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป

ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปจะส่งผลต่อต่อมน้ำลาย ทำให้ผู้หญิงมีอาการปากแห้งได้ในช่วงหลังจากมีประจำเดือน ช่วงตั้งครรภ์ และในวัยหมดประจำเดือน

การสูบผลิตภัณฑ์ยาสูบ

ผู้สูบไปป์ ซิการ์ และบุหรี่ จะทำให้มีอาการปากแห้ง

ปากแห้งรักษาได้หรือไม่ ?

การรักษาอาการปากแห้ง ควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ถ้าอาการปากแห้งเกิดจากการใช้ยาบางชนิด แพทย์อาจเปลี่ยนการสั่งยาหรือปรับปริมาณยาให้ ถ้าสาเหตุของอาการปากแห้งไม่สามารถรักษาได้ เราอาจใช้น้ำลายเทียมเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในปากไว้แทน

นอกจากนี้ อาจใช้วิธีจิบน้ำเปล่า หรือเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลบ่อยๆ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และน้ำอัดลมบางชนิด ไม่ใช้ยาสูบหรือแอลกอฮอล์ซึ่งทำให้ปากแห้ง

การเคี้ยวหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล หรือลูกอมปราศจากน้ำตาล ก็สามารถช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำลายได้ดี


หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากเพิ่มเติม
สามารถเขียนเข้ามาถามได้ที่ dental.d.clinic@gmail.com

และสำหรับผู้ใช้ Facebook สามารถเข้ามาเยี่ยมกันได้ที่
www.facebook.com/dentaldclinic

สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็น สอบถามเกี่ยวกับการรักษาได้ที่
Facebook ได้เหมือนกัน
อย่าลืมกด 'Like' เพื่อติดตามข่าวสารต่างๆของทางคลินิกด้วยนะครับ

ทพ.ศิลา จิรวัฒโนทัย

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากสำหรับว่าที่คุณแม่

เร็วๆนี้ผมได้มีโอกาสตรวจฟันของคนไข้หญิงท่านหนึ่งที่คลินิกครับ คนไข้มาพบผม เนื่องจากมีอาการมีเลือดออกที่เหงือกเวลาแปรงฟันมากกว่าปกติ จึงมีความกังวลว่าจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนหรือไม่

จากการสอบถามประวัติ พบว่าตอนนี้ คนไข้ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 4 เดือนเศษๆ เริ่มมีอาการเลือดออกที่เหงือกมาได้ประมาณ 1 เดือน

กรณีของว่าที่คุณแม่ท่านนี้ ได้รับการรักษาโดยการขูดหินปูนและขัดฟัน อาการก็หายไปหลังการรักษาประมาณ 3-4 วัน

อาการเลือดออกบริเวณเหงือกในหญิงตั้งครรภ์เป็นอาการที่พบได้บ่อย เนื่องจากขณะตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้เหงือกมีการตอบสนองต่อคราบหินปูนและสิ่งสกปรกได้มากกว่าปกติ เหงือกจะเกิดการอักเสบได้ง่ายและรุนแรงกว่าคนทั่วไป

ขณะเดียวกัน งานวิจัยบางชิ้นยังเชื่อว่า เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดเหงือกอักเสบ จะไปเพิ่มปริมาณฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย ส่งผลทางอ้อมให้ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อยอีกด้วย

การหมั่นดูแลสุขภาพช่องปาก จึงมีความสำคัญมากทั้งสำหรับคุณแม่และทารก หากเป็นไปได้ ควรตรวจและรักษาปัญหาในช่องปากให้เรียบร้อยก่อนจะตั้งครรภ์


คำถามต่อมาก็คือ ถ้ามีปัญหาในขณะที่ตั้งครรภ์แล้วล่ะ? เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง?

สิ่งแรกที่คนไข้ต้องทำเมื่อมาพบทันตแพทย์คือ แจ้งให้ทันตแพทย์ของท่านทราบว่าท่านกำลังตั้งครรภ์อยู่ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับทันตแพทย์ของท่าน ในการวางแผนการใช้ยาและทำการรักษา ซึ่งโดยทั่วไปในหญิงตั้งครรภ์ ทันตแพทย์จะรักษาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

อายุครรภ์ที่เหมาะสมกับการทำฟันที่สุดคือช่วงเดือนที่ 4-6
เนื่องจากช่วง 3 เดือนแรก จะเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมค่อนข้างมาก การให้ยาต่างๆ และความเครียดจากการทำฟัน (และการรอทำฟัน) อาจส่งผลไปถึงทารกในครรภ์ได้
ส่วนในช่วง 3 เดือนท้าย การรักษาอาจทำได้ไม่สะดวกนัก เนื่องจากมารดาไม่สามารถนอนทำฟันเป็นระยะเวลานานๆได้


อย่างไรก็ตาม ทุกช่วงอายุครรภ์ควรเลี่ยงการถ่ายภาพรังสี (X-ray) แต่หากมีความจำเป็นก็สามารถทำได้ แต่ต้องสวมเสื้อป้องกันรังสีก่อนทุกครั้ง

คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับว่าที่คุณแม่ในการดูแลตัวเองและทารก

1. การอาเจียนบ่อยๆจากการแพ้ท้อง มีผลทำให้ฟันสึกกร่อนได้ เนื่องจากกรดในกระเพาะอาหารที่ปนมาด้วย ควรบ้วนปากบ่อยๆเพื่อไม่ให้มีกรดค้างอยู่ในช่องปาก

2. การทานของเปรี้ยวบ่อยๆ ก็มีผลทำให้ฟันสึกกร่อนเหมือนกันครับ

3. ฟันน้ำนมของทารก จะเริ่มสร้างตั้งแต่ช่วงอายุครรภ์ 4-6 สัปดาห์ การรับประทานอาหาร(โดยเฉพาะแคลเซียม)ของคุณแม่จึงมีผลอย่างมากในการสร้างฟันของทารก

4. หลังคลอด แบคทีเรียในช่องปากแม่สามารถส่งต่อสู่ลูกได้จากการส่งต่อผ่านน้ำลาย เช่น การกอดจูบลูก การเป่าอาหารให้ลูก การใช้ช้อนหรือภาชนะร่วมกันกับลูก ดังนั้นการที่คุณแม่มีสุขภาพช่องปากที่ดี ไม่มีฟันผุหรือเหงือกอักเสบ จะช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียที่จะถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ครับ


หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากเพิ่มเติม
สามารถเขียนเข้ามาถามได้ที่ dental.d.clinic@gmail.com

และสำหรับผู้ใช้ Facebook
ตอนนี้ทางคลินิกมี Page บน Facebook แล้วครับ

www.facebook.com/dentaldclinic

สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็น สอบถามเกี่ยวกับการรักษาได้ที่ facebook ได้เหมือนกัน
อย่าลืมกด 'Like' เพื่อติดตามข่าวสารและโปรโมชั่นต่างๆของทางคลินิกด้วยนะครับ

ทพ.ศิลา จิรวัฒโนทัย

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การเลือกซื้อน้ำยาบ้วนปาก ที่ขูดลิ้น แปรงไฟฟ้า ไม้จิ้มฟัน และแปรงซอกฟัน

จากบทความเมื่อเดือนก่อน เราพูดถึงเรื่องการเลือกอุปกรณ์หลัก ที่เราจำเป็นต้องมี (และจำเป็นต้องใช้) ในการทำความสะอาดช่องปากกันไปแล้ว คราวนี้เรามาดูอุปกรณ์อื่นๆกันต่อครับ

อุปกรณ์อื่นๆนอกเหนือไปจากแปรงสีฟัน ยาสีฟัน และไหมขัดฟัน ได้แก่ น้ำยาบ้วนปาก ที่ขูดลิ้น แปรงไฟฟ้า ไม้จิ้มฟัน แปรงซอกฟัน ซึ่งมีข้อควรทราบก่อนซื้อดังนี้ครับ


น้ำยาบ้วนปาก
โดยทั่วไปจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ
1. ชนิดที่มีฟลูออไรด์ผสม
ใช้บ้วนเพื่อเสริมความแข็งแรงของฟัน ป้องกันฟันผุ ใช้ในกรณีที่ผู้ใช้มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดฟันผุมากกว่าปกติ เช่น คนไข้จัดฟัน คนไข้ที่เคยรับการฉายแสงเพื่อการรักษามะเร็งบริเวณช่องปากหรือใกล้เคียง คนไข้ที่มีข้อจำกัดในการทำความสะอาดช่องปาก
2. ชนิดที่ไม่มีฟลูออไรด์ผสม
ซึ่งเราหวังผลในเรื่องอื่นๆ เช่น ฆ่าเชื้อ ลดปริมาณเชื้อโรคภายในปาก มักใช้หลังการถอนฟัน ผ่าตัดในช่องปาก ใช้หลังจากการรักษาโรคเหงือกเพื่อลดอาการอักเสบ หรือช่วยลดอาการเสียวฟัน เป็นต้น

น้ำยาบ้วนปากแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน จึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมตามสภาพปัญหาของช่องปาก และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ

อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถใช้น้ำยาบ้วนปากแทนการแปรงฟันได้ เพราะการบ้วนปากไม่สามารถกำจัดเอาแผ่นคราบจุลินทรีย์บนตัวฟันซึ่งเป็นสาเหตุของโรคฟันผุและเหงือกอักเสบออกไป น้ำยาบ้วนปากจะมีประโยชน์เพียงช่วยลดปริมาณเชื้อโรค และมีผลชั่วคราวเท่านั้น


ที่ขูดลิ้น
หลายคนเวลาทำความสะอาดในช่องปาก มักเอาใจใส่เฉพาะที่ฟันเท่านั้น ไม่เคยทำความสะอาดลิ้นเลย

ลิ้นของเราจะมีลักษณะเป็นปุ่มเล็กๆจำนวนมาก ซึ่งทำหน้าที่ในการรับรสอาหารต่าง ๆ ซึ่งผิวที่ไม่เรียบนี้เอง อาจทำให้มีเศษอาหารหรือคราบเครื่องดื่มตกค้าง หมักหมม เกิดการบูดเน่า ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดกลิ่นปากได้

เมื่อตรวจดูลิ้น คราบสะสมเหล่านี้อาจพบเป็นลักษณะฝ้าขาวๆ ในเด็กเล็กควรใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดบริเวณฝ้าขาวนั้น ถ้าเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่ก็ให้ใช้ที่ขูดลิ้น โดยขูดจากส่วนในของลิ้นออกมาทางปลายลิ้นสัก 2-3 ครั้ง ควรทำทุกครั้งเมื่อแปรงฟัน

จริงๆแล้ว การทำความสะอาดลิ้น นอกจากใช้ที่ขูดลิ้นแล้ว เราอาจใช้แปรงสีฟันธรรมดาแทนก็ได้ครับ แต่อาจต้องใช้เวลามากกว่านิดหน่อย เพราะหน้าตัดของแปรงแคบกว่าที่ขูดลิ้น แต่ผลที่ได้ไม่ต่างกัน

อีกบริเวณที่เราก็ต้องทำความสะอาดด้วยเหมือนกันก็คือกระพุ้งแก้มครับ ทำได้โดยใช้ที่ขูดลิ้น (หรือแปรงสีฟัน) กวาดเบาๆให้ทั่ว ไม่ยากและไม่เจ็บครับ


แปรงสีฟันไฟฟ้า
ในส่วนของแปรงไฟฟ้า โดยสรุปคือ เมื่อใช้อย่างถูกวิธี จะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ทำความสะอาดผิวฟันได้ง่ายขึ้นมาก แต่มีราคาค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับแปรงธรรมดา หากไม่เกี่ยงเรื่องราคาก็นับว่าเป็นอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกได้มากทีเดียว
กลุ่มที่หมอแนะนำให้ใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า จะเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการแปรงฟัน เช่น ไม่สามารถแปรงได้ด้วยตัวเอง การควบคุมกล้ามเนื้อมือทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

ดังนั้นการตัดสินใจซื้อแปรงสีฟันไฟฟ้าจึงขึ้นกับปัจจัย 2 อย่างคือ
1. ความสามารถในการแปรงฟัน และ
2. เงินในกระเป๋า


ไม้จิ้มฟัน
จริงๆแล้ว ไม้จิ้มฟันเป็นอุปกรณ์ที่หมอไม่ค่อยแนะนำให้ใช้ครับ เนื่องจากไม้จิ้มฟันมีขนาดใหญ่และมักถูกใช้ด้วยความรุงแรง จึงมักก่อผลเสียมากกว่าผลดี ทำให้ฟันห่าง เหงือกร่น
แต่หากจำเป็นต้องใช้จริงๆ (มีเศษอาหารชิ้นใหญ่มากติดฟัน เอาไม่ออก แถมยังอยู่นอกบ้าน ไม่มีอุปกรณ์อะไรอื่นเลย) ก็ขอให้ใช้ด้วยความระมัดระวัง และใช้เพื่อ'เขี่ย'เศษอาหารออก ร่วมกับการบ้วนปากแรงๆนะครับ อย่าใช้ไม้'ทะลวง'เด็ดขาด...


แปรงซอกฟัน
เป็นอุปกรณ์เสริมที่มักจ่ายให้คนไข้โดยทันตแพทย์ ผู้ใช้จะมี 2 กลุ่มหลักๆ คือผู้ที่เคยเป็นโรคเหงือก มีเหงือกร่นมาก และกลุ่มคนไข้จัดฟันครับ
1. คนไข้โรคเหงือก
เมื่อมีเหงือกร่นมากๆ จะทำให้ระหว่างซอกฟันมีช่องว่างขนาดใหญ่ การใช้ไหมขัดฟัน อาจทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึง การใช้แปรงซอกฟันจะช่วยทำความสะอาดในส่วนนี้ได้ แต่ต้องเลือกให้มีขนาดเหมาะสมกับช่องว่าง หากใช้ขนาดใหญ่เกินไปจะทำให้เหงือกร่นมากกว่าเดิมได้

2. คนไข้จัดฟัน
ควรใช้แปรงซอกฟันทำความสะอาดบริเวณใต้ลวดจัดฟัน (ระหว่างลวดกับผิวฟัน) ซึ่งเป็นบริเวณที่ขนแปรงมักเข้าไปทำความสะอาดไม่ถึง โดยวางแปรงในแนวตั้ง ขนานกับตัวฟัน ปลายแปรงหันไปทางเดียวกับปลายฟัน


อุปกรณ์เสริมต่างๆเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนช่วย ในการดูแลทำความสะอาด ให้ ง่ายขึ้น ดีขึ้น ทั่วถึงขึ้น เท่านั้น
ส่วนสำคัญที่สุด ย่อมคือ "ผู้ใช้" ที่จะสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละคน และใช้ได้อย่างถูกวิธี

สุขภาพช่องปากที่ดี จะต้องมาจากความเอาใจใส่ และความมีวินัยในการทำความสะอาดอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอครับ


หากมีคำถามเพิ่มเติม สามารถส่งเข้าได้ที่ dental.d.clinic@gmail.com ครับ

ทพ.ศิลา จิรวัฒโนทัย

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การเลือกซื้อแปรงสีฟัน ยาสีฟัน และไหมขัดฟัน

เมื่อเรานึกถึงการทำความสะอาดฟันและช่องปาก อุปกรณ์พื้นฐานที่เราจำเป็นต้องใช้อยู่เสมอก็คือ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน และไหมขัดฟัน

หลายคนอาจนึกไปถึงอุปกรณ์เสริมอื่นๆด้วย เช่น น้ำยาบ้วนปาก ที่ขูดลิ้น แปรงสีฟันไฟฟ้า ไม่จิ้มฟัน แปรงซอกฟัน ฯลฯ

อุปกรณ์และเครื่องมือเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราสามารถดูแลความสะอาดในช่องปากได้ดีขึ้น แต่จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อเราใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมนะครับ เพราะบางครั้งเมื่อเราเลือกชนิดมาไม่เหมาะกับเราหรือใช้ไม่ถูกวิธี อาจไม่ได้ประโยชน์จากอุปกรณ์นั้นๆเลย หรือทำให้เกิดความเสียหายที่ฟันหรืออวัยวะรอบๆได้


สำหรับการเลือกใช้อุปกรณ์ต่างๆ มีข้อควรรู้ดังนี้ครับ


แปรงสีฟัน
แบ่งตามขนาดได้คร่าวๆ 4 ประเภท คือ
ผู้ใหญ่ (12 ปีขึ้นไป)
เด็กโต (6-12 ขวบ)
เด็กเล็ก (3-6 ขวบ)
เด็กอ่อน (เริ่มมีฟัน - 3 ขวบ)

ถ้าแบ่งตามชนิดของขนแปรง จะแบ่งได้ 4 ประเภท
แข็ง (hard)
ปานกลาง (medium)
นุ่ม (soft)
นุ่มพิเศษ (extra soft)

จากประสปการณ์ตรง คำแนะนำของหมอคือ ควรเลือกแปรงที่ขนแปรงนิ่มที่สุดที่เวลาแปรงแล้ว เรายังรู้สึกว่าสะอาด เรียกว่า ยิ่งนิ่มก็ยิ่งดีครับ แต่ถ้าบางคนใช้แปรงขนนิ่มเกินไปแล้วไม่ถนัดหรือรู้สึกไม่สะอาด ก็สามารถเลือกใช้ชนิดที่แข็งขึ้นมาได้เล็กน้อย แต่ต้องแปรงให้เบามือลงด้วยนะครับ เพราะการแปรงฟันแรงๆโดยใช้แปรงที่แข็งเกินไป อาจทำให้คอฟันสึกได้

ลักษณะของขนแปรง
ขนแปรงที่ดี ควรทำมาจากไนล่อน ผิวเรียบ ปลายมน เมื่อถูกน้ำแล้วควรแห้งเร็ว
บริเวณหัวแปรงบางรุ่นอาจมีส่วนที่มีผิวสากๆด้านหลัง เพื่อใช้ในการแปรงลิ้นและกระพุ้งแก้มด้วย

ลักษณะด้ามแปรง
มีทั้งแบบ ด้ามตรง โค้งงอ 1 ระดับ โค้งงอ 2 ระดับ ผิวด้ามเรียบ หรือผิวเป็นยางสำหรับเพิ่มความถนัดในการจับ การเลือกก็ควรเลือกตามที่เราจับถนัดครับ


ยาสีฟัน

ในส่วนของยาสีฟัน เราคงต้องทราบส่วนผสมของยาสีฟันทั่วๆไปกันก่อน ยาสีฟันส่วนใหญ่จะประกอบด้วย
- ผงขัด
- สารที่ทำให้เกิดฟอง
- สารกันบูด
- สี กลิ่น รส

นอกจากนี้ ยาสีฟันแต่ละรุ่นอาจมีสารที่มีคุณสมบัติพิเศษอื่นๆใส่เพิ่มเข้าไป ซึ่งสารที่มีคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้จะช่วยในเรื่องต่างๆกัน เช่น

สารที่ช่วยให้ฟันแข็งแรง ป้องกันฟันผุ
- โซเดียมฟลูออไรด์
- โซเดียมโมโนฟลูออโรฟอสเฟต
- โซเดียม ฟลูออไรด์และโซเดียม
- โมโนฟลูออโรฟอสเฟส
(หรือก็คือ ฟลูออไรด์ในรูปแบบต่างๆนั่นเอง)

สารประเภทช่วยให้เหงือกแข็งแรง
- โซเดียมคลอไรด์
(มักพบในยาสีฟัน"สูตรเกลือ")

สารประเภทลดอาการเสียวฟัน
- โปรตัสเซียมไนเตรท
- สตรอนเทียมคลอไรด์

การเลือกใช้ยาสีฟัน ควรเลือกชนิดที่มีเนื้อเป็นครีมหรือเจล เพราะจะทำให้ฟันสึกกร่อนน้อยกว่าแบบผง นอกจากนี้ก็ควรเลือกยาสีฟันที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่เราต้องการ (ลดเสียวฟัน ป้องกันฟันผุ ช่วยให้เหงือกแข็งแรง) ส่วนเรื่องของสี กลิ่น รส สามารถเลือกได้ตามใจชอบครับ (ไซลิทอล ซึ่งเป็นสารให้ความหวานในยาสีฟันนั้น ไม่ทำให้ฟันผุ)

ไหมขัดฟัน
มี 2 ชนิดคือแบบเคลือบขี้ผึ้ง และไม่เคลือบขี้ผึ้ง ผลการทำความสะอาดไม่ต่างกันมากนัก มือใหม่ควรเลือกแบบที่เคลือบขี้ผึ้งจะใช้งานได้ง่ายกว่า (ราคาแพงกว่าเล็กน้อย)



สำหรับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ เช่น น้ำยาบ้วนปาก ที่ขูดลิ้น แปรงไฟฟ้า ไม้จิ้มฟัน แปรงซอกฟัน เราจะมาพูดถึงกันครั้งหน้าครับ


หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากเพิ่มเติม สามารถเขียนเข้ามาถามได้ที่ dental.d.clinic@gmail.com นะครับ หมอยินดีตอบทุกคำถามครับ

ทพ.ศิลา จิรวัฒโนทัย