อีก 1 ช่องทางในการติดต่อ

วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ฟันคุด ต้องถอน/ผ่าออกไม๊ครับ ?


ก่อนปีใหม่ ผมพูดถึงเรื่องคำถามที่ถูกถามบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องการเบิกประกันสังคมไปแล้ว คำถามที่คนไข้มักจะถามผมบ่อยรองลงมาก็คือ เรื่องเกี่ยวกับ ฟันคุด ครับ

ส่วนใหญ่แล้ว คนไข้มักจะกังวลเกี่ยวกับความจำเป็นในการถอน/ผ่าออก ถ้าไม่ถอนออกจะเป็นไรไหม ? ตอนผ่าออกจะเจ็บมากไหม ? หลังจากผ่าแล้วจะปวด-บวมแค่ไหน ?

ฟันคุดที่คนไข้ทั่วไปนึกถึง (และพบได้) บ่อยๆ มักจะเป็นฟันกรามซี่ในสุด ทั้งฟันบนและฟันล่าง แต่จริงๆแล้วฟันตำแหน่งไหนก็สามารถเป็นฟันคุดได้ครับ เพียงแต่พบได้น้อยกว่ามากๆ (ตามนิยามแล้ว ฟันคุด คือฟันที่ไม่สามารถขึ้นมาได้เต็มซี่ในช่องปาก พบได้ตั้งแต่ไม่โผล่ขึ้นมาเลย-ฝังอยู่ในกระดูกทั้งซี่ หรือโผล่มาไม่เต็มซี่ก็ได้) ส่วนที่จะพูดถึงกันวันนี้ ขออนุญาตว่ากันเฉพาะฟันกรามซี่ในสุดนะครับ

ฟันกรามซี่ในสุด มักจะเริ่มปรากฏตัว (หรือมีอาการปวด-บวม) ในช่วงอายุ 17-25 ปี โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีทั้ง 4 ซี่ (ซ้ายบน-ล่าง,ขวาบน-ล่าง) พบได้เหมือนกันว่าบางคนจะมีมาก หรือน้อยกว่านั้น ประมาณ 35% ของประชากร (ซึ่งทำบุญมาดี) อาจจะไม่มีเลยซักซี่ก็ได้

แล้วเราจะทราบได้ยังไงว่าเรามีฟันคุดหรือเปล่า ?
ง่ายที่สุดก็ลองตรวจดูเบื้องต้นด้วยตัวเองก่อนก็ได้ครับ หากคุณอายุ 25 ปีขึ้นไปแล้วมีฟันไม่ครบ 32 ซี่ หรือเห็นซี่ไหนในปากที่ขึ้นมาได้ไม่เต็มซี่ ก็สงสัยไว้ก่อนเลยครับว่าใช่แน่..... แต่ถ้าจะให้แน่ใจก็ควรจะไป X-ray ดูครับ การ X-ray ด้วยวิธี Panoramic จะสามารถทำให้เราเห็นฟันได้ชัดเจนครบถ้วนทั้งขากรรไกรบนและล่าง รวมถึงขนาดและตำแหน่งของฟันคุดด้วยครับ

ทีนี้.. ทำไมเราถึงต้องถอน/ผ่ามันออกด้วยล่ะ ?
การถอน/ผ่าฟันคุดนั้น เราทำด้วยจุดประสงค์หลายอย่างครับ

1. เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่คลุมฟันคุดอยู่
ซึ่งจะมีเศษอาหารเข้าไปติดระหว่างเหงือกและฟันคุดได้เสมอ เกิดการสะสมของเชื้อโรค ทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ เป็นหนอง บวม หากทิ้งไว้อาจเกิดการลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง เช่นใต้ลิ้น คางได้

2. เพื่อป้องกันการผุของฟันข้างเคียง
เพราะนอกจากเศษอาหารจะเข้าไปติดใต้เหงือกแล้ว ยังติดระหว่างซอกฟันของฟันคุดกับฟันซี่ข้างๆด้วย ทำให้ฟันข้างเคียงเกิดการผุได้ง่าย

3. เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก
ฟันคุดที่ทิ้งไว้นานไปเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุด อาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ หรือเนื้องอกได้ ถึงกรณีนี้จะพบได้ไม่มากนัก แต่ก็อันตรายครับ

4. เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก
เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ จะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นเกิดเป็นจุดอ่อนของขากรรไกร เพราะมีกระดูกบางกว่าตำแหน่งอื่น เมื่อได้รับอุบัติเหตุ หรือกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย

5. นอกจากนี้ ฟันคุดที่พยายามเบียดขึ้นมา จะทำให้ฟันที่เรียงตัวดีอยู่แล้วในปาก เกิดการซ้อนเกขึ้นได้ หมอจัดฟันส่วนใหญ่จึงแนะนำให้ทำการถอน/ผ่าฟันคุดก่อนการจัดฟันเสมอ


ในเรื่องขั้นตอนการรักษานั้น ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรครับ หลังจากวินิจฉัยว่ามีฟันคุดแล้ว คุณหมอก็จะเริ่มจากการใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อระงับความรู้สึกก่อน หลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการนำฟันคุดออกมา ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามขนาด ตำแหน่งของฟันคุดนั้นๆ พอเอาออกมาได้แล้วก็จะเป็นการล้างทำความสะอาด และเย็บแผลปิดก็เรียบร้อยแล้วครับ คนไข้สามารถกลับบ้านได้เลย

อาการหลังจากผ่าฟันคุดแล้ว
หลังจากหายชาก็จะปวดหน่อยครับ ปวดที่ว่าก็เป็นแค่ปวดรำคาญแบบพอทนได้เท่านั้น ไม่ได้คอขาดบาดตายอะไร (อันนี้พูดจากประสพการณ์ตรงเลยครับ...) อาการปวดจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆจนหายปวดประมาณวันที่ 3-4 หลังผ่า

ส่วนของอาการบวมนั้น หลังผ่ามันจะค่อยๆบวมขึ้นเรื่อยๆ จะไปบวมสุดๆเอาวันที่ 3 หลังทำ (หายปวดพอดี..แต่บวม) แต่อย่าเพิ่งกลัวไปครับ อาการบวมนั้นไม่ได้เกิดทุกคน บางคนอาจจะไม่บวมเลยก็ได้ (ประสพการณ์ตรงเหมือนกันครับ) การบวมมักจะขึ้นอยู่กับความยุ่งยากในการทำ (ขนาดฟันคุดซี่ใหญ่ ใช้เวลาทำนานจะบวมมากหน่อย) แต่หลังจากพ้นวันที่ 3-4 ไป ก็จะค่อยๆยุบลงจนเป็นปกติในเวลาประมาณ 6-7 วันครับ

การดูแลแผล
ก็เหมือนการถอนฟันทั่วๆไปครับ

1. กัดผ้าให้แน่นบนบริเวณที่ถูกถอน อย่าเคี้ยวหรือพูดถ้าไม่จำเป็น กลืนน้ำ-น้ำลายในปากให้แห้งๆเข้าไว้
2. คายผ้าที่กัดไว้ให้หมดหลังถอนฟันแล้ว 2 ชั่วโมง ทานยาแก้ปวดตามไปเลย 2 เม็ด
3. อย่าดูดหรือใช้ลิ้นเล่นที่แผล เพราะเลือดอาจออกมาอีกได้ง่าย ห้ามบ้วนน้ำลาย ห้ามบ้วนน้ำ ตลอดวันที่ถอนฟัน
4. ใช้ผ้าห่อน้ำแข็ง ประคบที่แก้มข้างที่ทำตลอดวันหลังผ่าเสร็จ
5. หลังหายชา ถ้าปวดให้รับประทานยาแก้ปวด 2 เม็ด และควรให้ห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
6. 3-4 วันแรก ควรเลี่ยงอาหารแข็งๆ ร้อนหรือเย็นจัด รวมถึงเหล้า บุหรี่ แอลกอฮอล์ด้วยครับ พวกนี้จะทำให้แผลหายช้า
7. งดการออกกำลังกายหนักๆ
8. แปรงฟัน บ้วนปากเบาๆได้ในวันรุ่งขึ้น แต่ใกล้แผลก็แปรงเบาๆมือหน่อยนะครับ
9. บ้วนปากเบาๆในวันรุ่งขึ้นด้วยน้ำเกลือ (ใช้เกลือ 1/2 ช้อนชา ในน้ำอุ่น 1 แก้ว) หรือน้ำยาบ้วนปาก โดยเฉพาะหลังอาหาร
10. กรณีที่เย็บแผลไว้ ให้กลับมาตัดไหมหลังจากเย็บแล้วประมาณ 6-10 วัน
11. ถ้ามีอาการผิดปกติ (ปวดมาก บวมมาก เลือดออกมาก) หรือหลังฤทธิ์ยาชาหมดไปแล้ว แต่บางบริเวณของริมฝีปากมีอาการชาไม่หาย ควรรีบกลับไปพบคุณหมอทันทีเพื่อหาทางแก้ไขนะครับ แต่อาการแทรกซ้อนพวกนี้ พบได้น้อยมากครับ

ฟันคุดนั้น หลังจากเราตรวจพบแล้ว ก็ควรรีบทำการรักษา ถอน/ผ่าออกโดยเร็วครับ ไม่ควรรอ เพราะหากทิ้งไว้ ฟันคุดอาจทำความเสียหายได้มาก การรักษาในช่วงที่อายุยังน้อยอยู่ก็จะสามารถทำได้ง่ายกว่า แผลหายเร็วกว่า และปวด-บวมน้อยกว่าด้วยครับ

ทพ.ศิลา จิรวัฒโนทัย