อีก 1 ช่องทางในการติดต่อ

วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

ปุ่มกระดูกในปาก อันตรายหรือไม่ ?



ปุ่มกระดูกที่พบในปาก สามารถแยกได้เป็น 3 แบบ ตามบริเวณที่พบ ได้แก่

1. บริเวณด้านในของขากรรไกรบน-เพดานปาก (Torus palatinus)
พบบริเวณกึ่งกลางของเพดานปาก ส่วนใหญ่ที่พบจะมีลักษณะสมมาตรและขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซม.


2. บริเวณด้านในของขากรรไกรล่าง-ใต้ลิ้น (Torus mandibularis)
พบบริเวณเหงือกใต้ลิ้น ใกล้กับบริเวณฟันกรามน้อย (premolar) ส่วนใหญ่จะมีลักษณะสมมาตร (พบทั้งด้านซ้ายและขวา) เช่นกัน โดยมักพบได้มากกว่าในคนไข้ที่มีอาการนอนกัดฟัน

ปุ่มกระดูกทั้ง 2 แบบนี้ พบได้บ่อยในชาวเอเชีย

ความแตกต่างอื่นๆนอกจากบริเวณที่พบ เช่น
  • ปุ่มกระดูกที่ขากรรไกรบนจะพบมากกว่าขากรรไกรล่าง (บนพบได้ประมาณ 60% ของประชากร ล่างพบได้ประมาณ 40%)
  • ปุ่มกระดูกที่ขากรรไกรบนจะพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า ในขณะที่ปุ่มกระดูกที่ขากรรไกรล่างจะพบในเพศชายมากกว่าเล็กน้อย


3. บริเวณด้านนอกของขากรรไกร (Buccal exostosis)
เป็นปุ่มกระดูกที่พบบริเวณสันเหงือกด้านนอก (ใกล้แก้ม) พบได้ในขากรรไกรบนมากกว่าล่างมาก มักไม่ทำให้เกิดปัญหาหรือความเจ็บปวดใดๆ ยกเว้นถ้ามีขนาดใหญ่มากอาจทำให้เป็นโรคเหงือกได้เนื่องจากขัดขวางการทำความสะอาด


ปุ่มกระดูกทั้ง 3 แบบนี้ โดยปกติแล้วอาจมีการเพิ่มขนาดขึ้นหรือลดขนาดลงได้เมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งไม่มีอันตรายใดๆ ไม่มีความจำเป็นต้องทำการรักษา ยกเว้นในกรณีที่เป็นแผลบ่อยๆเวลาทานอาหาร การถูกฟันปลอมเสียดสี-กดทับปุ่มกระดูก หรือปุ่มกระดูกใหญ่มากจนทำให้ไม่สามารถใส่ฟันปลอมได้ ก็อาจต้องทำการรักษาโดยการตัดปุ่มกระดูกออกครับ



การผ่าตัดเพื่อตัดปุ่มกระดูกออก

จะเป็นการผ่าตัดเล็กๆ ใช้เวลาไม่นาน (ประมาณ 30-50 นาที) หลังผ่าตัดจะมีเครื่องมือเรียกว่า Stent (ลักษณะคล้ายรีเทนเนอร์) ให้คนไข้ใส่ไว้เพื่อปิดแผลและป้องกันการกระทบกระแทกเวลารับประทานอาหาร
หลังจากผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์ก็มาตัดไหม รวมๆแล้วไม่เกิน 10 วันก็จะหายเป็นปกติครับ

ทพ.ศิลา จิรวัฒโนทัย