อีก 1 ช่องทางในการติดต่อ

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การขึ้นของฟันน้ำนมและการดูแลสุขภาพช่องปากในเด็กเล็ก

การขึ้นของฟันน้ำนมนั้น เริ่มตั้งแต่เด็กอายุได้ประมาณ 7-9 เดือนโดยจะเริ่มจากฟันหน้าแล้วไล่เข้าไปด้านหลัง ยกเว้นฟันเขี้ยว (ซี่ที่ 3 จากตรงกลาง) จะขึ้นทีหลังฟันกรามเล็กน้อย

โดยจะขึ้นครบทั้ง 20 ซี่เมื่อเด็กอายุประมาณ 2 ขวบนิดๆ โดยฟันแต่ละซี่จะอยู่ในช่องปากนานไม่เท่ากัน ซี่แรกจะเริ่มหลุดเมื่ออายุประมาณ 6 ขวบ และซี่สุดท้ายจะหลุดช่วงอายุประมาณ 12 ขวบ

ขณะที่กว่าฟันจะเริ่มขึ้น เมื่อเด็กมีอายุเกือบๆ 1 ขวบแล้วนั้น การดูแลสุขภาพช่องปากจะต้องเริ่มมาก่อนหน้านั้นนานมากครับ

คำถามคือ.. อ้าว..ก็ฟันยังไม่ขึ้น จะต้องดูแลอะไร ?

คำตอบง่ายนิดเดียว.. เหงือกไงครับ

การดูแลเหงือกให้สะอาดทำได้หลายวิธีครับ เช่น

1. ให้เด็กดูดน้ำสะอาดตาม หลังจากดูดนม (ทั้งนมแม่และนมขวด)

2. ฝึกไม่ให้เด็กหลับคาขวดนม

3. ผู้ปกครองใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น เช็ดบริเวณเหงือกทุกครั้งหลังการรับประทานอาหาร

ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำความสะอาดให้เด็กแล้ว ยังเป็นการฝึกนิสัยในการทำความสะอาดให้เด็กมีความคุ้นเคยอีกด้วย

หลังจากที่ฟันขึ้นมาแล้ว ควรเริ่มหัดแปรงฟันโดยช่วงแรกยังไม่ควรใช้ยาสีฟันนะครับ หรือถ้าจะใช้ก็ให้เลือกชนิดที่กลืนได้ (มักมีขายอยู่ในแผนกสินค้าเด็กอ่อน) เนื่องจากเด็กอาจยังไม่คุ้นเคยกับการบ้วนทิ้ง

เช่นเดียวกับน้ำที่ใช้บ้วน ช่วงแรกควรเป็นน้ำต้มสุกก่อน หลังจากที่เด็กคุ้นเคยกับการบ้วนทิ้งแล้วจึงเปลี่ยนมาใช้ยาสีฟันกับน้ำธรรมดาได้โดยใช้ปริมาณยาสีฟันแต่น้อย (ประมาณเม็ดถั่วเขียว)

การหัดแปรงควรแปรงด้วยกันกับลูกในลักษณะของการทำให้ดู หลังจากลูกแปรงเสร็จแล้ว ผู้ปกครองยังคงจะต้องแปรงซ้ำให้ด้วยนะครับ เพราะการควบคุมข้อมือของเด็ก จะยังทำได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ (การควบคุมกล้ามเนื้อมือของเด็กจะสมบูรณ์ประมาณ 8 ขวบ)

อธิบายให้เห็นภาพก็คือ แปรงกับใจ ไปคนละทาง... ดังนั้น ผู้ปกครองควรตรวจการแปรงฟันของเด็กเสมอครับ

ความเชื่อที่ผิดที่มักจะเกิดกับฟันน้ำนมก็คือ ผู้ปกครองหลายคนปล่อยให้ฟันน้ำนมของเด็กผุโดยไม่รักษา เพราะคิดว่าเดี๋ยวมันก็หลุด หรือเมื่อมารักษาก็จะให้ถอนทิ้งไปเลย (ไว้รอแก้ตัวใหม่กับฟันแท้)

จากในภาพจะเห็นว่าฟันบางซี่ (โดยเฉพาะฟันกราม) จะต้องอยู่ในปากเด็กไปจนถึงช่วงอายุ 11-12 ปี (ประมาณ ม.1) นั่นหมายถึง ถ้าเด็กถูกถอนฟันไปเร็ว เด็กอาจต้องมีช่องว่างอยู่นานกว่าฟันแท้จะขึ้นมาแทนที่

ดังนั้น การสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนเวลาอาจทำให้เกิดผลเสียตามมาได้หลายอย่าง เช่น

1. การเคี้ยวอาหารทำได้ลำบากขึ้น หรือการออกเสียงพูดผิดเพี้ยนไป ทำให้พูดไม่ชัดไปจนโต

2. เวลาการขึ้นของฟันแท้ผิดปกติไป

3. ฟันแท้ซี่ข้างเคียงที่ขึ้นมาก่อน อาจล้ม-เลื่อนเข้าหาช่องว่าง ทำให้ฟันที่ควรจะขึ้นมาแทนตำแหน่งนั้นขึ้นไม่ได้

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากเพิ่มเติม

สามารถเขียนเข้ามาถามได้ที่ dental.d.clinic@gmail.com

และสำหรับผู้ใช้ Facebook สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็น สอบถามเกี่ยวกับการรักษาได้ที่

www.facebook.com/dentaldclinic

ได้เหมือนกัน

อย่าลืมกด 'Like' เพื่อติดตามข่าวสารต่างๆของทางคลินิกด้วยนะครับ

ทพ.ศิลา จิรวัฒโนทัย