อีก 1 ช่องทางในการติดต่อ

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากสำหรับว่าที่คุณแม่

เร็วๆนี้ผมได้มีโอกาสตรวจฟันของคนไข้หญิงท่านหนึ่งที่คลินิกครับ คนไข้มาพบผม เนื่องจากมีอาการมีเลือดออกที่เหงือกเวลาแปรงฟันมากกว่าปกติ จึงมีความกังวลว่าจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนหรือไม่

จากการสอบถามประวัติ พบว่าตอนนี้ คนไข้ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 4 เดือนเศษๆ เริ่มมีอาการเลือดออกที่เหงือกมาได้ประมาณ 1 เดือน

กรณีของว่าที่คุณแม่ท่านนี้ ได้รับการรักษาโดยการขูดหินปูนและขัดฟัน อาการก็หายไปหลังการรักษาประมาณ 3-4 วัน

อาการเลือดออกบริเวณเหงือกในหญิงตั้งครรภ์เป็นอาการที่พบได้บ่อย เนื่องจากขณะตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้เหงือกมีการตอบสนองต่อคราบหินปูนและสิ่งสกปรกได้มากกว่าปกติ เหงือกจะเกิดการอักเสบได้ง่ายและรุนแรงกว่าคนทั่วไป

ขณะเดียวกัน งานวิจัยบางชิ้นยังเชื่อว่า เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดเหงือกอักเสบ จะไปเพิ่มปริมาณฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย ส่งผลทางอ้อมให้ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อยอีกด้วย

การหมั่นดูแลสุขภาพช่องปาก จึงมีความสำคัญมากทั้งสำหรับคุณแม่และทารก หากเป็นไปได้ ควรตรวจและรักษาปัญหาในช่องปากให้เรียบร้อยก่อนจะตั้งครรภ์


คำถามต่อมาก็คือ ถ้ามีปัญหาในขณะที่ตั้งครรภ์แล้วล่ะ? เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง?

สิ่งแรกที่คนไข้ต้องทำเมื่อมาพบทันตแพทย์คือ แจ้งให้ทันตแพทย์ของท่านทราบว่าท่านกำลังตั้งครรภ์อยู่ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับทันตแพทย์ของท่าน ในการวางแผนการใช้ยาและทำการรักษา ซึ่งโดยทั่วไปในหญิงตั้งครรภ์ ทันตแพทย์จะรักษาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

อายุครรภ์ที่เหมาะสมกับการทำฟันที่สุดคือช่วงเดือนที่ 4-6
เนื่องจากช่วง 3 เดือนแรก จะเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมค่อนข้างมาก การให้ยาต่างๆ และความเครียดจากการทำฟัน (และการรอทำฟัน) อาจส่งผลไปถึงทารกในครรภ์ได้
ส่วนในช่วง 3 เดือนท้าย การรักษาอาจทำได้ไม่สะดวกนัก เนื่องจากมารดาไม่สามารถนอนทำฟันเป็นระยะเวลานานๆได้


อย่างไรก็ตาม ทุกช่วงอายุครรภ์ควรเลี่ยงการถ่ายภาพรังสี (X-ray) แต่หากมีความจำเป็นก็สามารถทำได้ แต่ต้องสวมเสื้อป้องกันรังสีก่อนทุกครั้ง

คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับว่าที่คุณแม่ในการดูแลตัวเองและทารก

1. การอาเจียนบ่อยๆจากการแพ้ท้อง มีผลทำให้ฟันสึกกร่อนได้ เนื่องจากกรดในกระเพาะอาหารที่ปนมาด้วย ควรบ้วนปากบ่อยๆเพื่อไม่ให้มีกรดค้างอยู่ในช่องปาก

2. การทานของเปรี้ยวบ่อยๆ ก็มีผลทำให้ฟันสึกกร่อนเหมือนกันครับ

3. ฟันน้ำนมของทารก จะเริ่มสร้างตั้งแต่ช่วงอายุครรภ์ 4-6 สัปดาห์ การรับประทานอาหาร(โดยเฉพาะแคลเซียม)ของคุณแม่จึงมีผลอย่างมากในการสร้างฟันของทารก

4. หลังคลอด แบคทีเรียในช่องปากแม่สามารถส่งต่อสู่ลูกได้จากการส่งต่อผ่านน้ำลาย เช่น การกอดจูบลูก การเป่าอาหารให้ลูก การใช้ช้อนหรือภาชนะร่วมกันกับลูก ดังนั้นการที่คุณแม่มีสุขภาพช่องปากที่ดี ไม่มีฟันผุหรือเหงือกอักเสบ จะช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียที่จะถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ครับ


หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากเพิ่มเติม
สามารถเขียนเข้ามาถามได้ที่ dental.d.clinic@gmail.com

และสำหรับผู้ใช้ Facebook
ตอนนี้ทางคลินิกมี Page บน Facebook แล้วครับ

www.facebook.com/dentaldclinic

สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็น สอบถามเกี่ยวกับการรักษาได้ที่ facebook ได้เหมือนกัน
อย่าลืมกด 'Like' เพื่อติดตามข่าวสารและโปรโมชั่นต่างๆของทางคลินิกด้วยนะครับ

ทพ.ศิลา จิรวัฒโนทัย