อีก 1 ช่องทางในการติดต่อ

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเบิกค่าทำฟันจากประกันสังคม

"ทำฟัน เบิกประกันสังคมได้ไม๊ครับ/คะ ?"


** เพิ่มเติมข้อมูล วันที่ 07-11-2557 **
ทางสำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มสิทธิ์การเบิกทางทันตกรรมของผู้ประกันตน ในเรื่องของการทำฟันปลอม  จึงขออนุญาตแก้ไขข้อมูลในบทความให้อัพเดทครับ


คำถามยอดฮิต ที่ยิ่งใกล้สิ้นปีจะยิ่งได้ยินบ่อยมากครับ ผู้ที่เป็นผู้ประกันตนหลายท่านอาจจะยังไม่เข้าใจ ไม่เคยใช้สิทธิ์ อาจจะยังไม่ทราบว่าถ้าเราต้องการเบิกค่ารักษาจากการทำฟันนั้น
- ไปทำที่ไหนได้บ้าง ?
- เบิกค่าอะไรได้บ้าง ?
- เบิกได้ปีละเท่าไหร่ ?
- เรา (ตัวคนไข้เอง) จะต้องเตรียมเอกสารอะไรไปด้วยหรือเปล่า ?



ตามตัวอักษรจากหน้าเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม พูดถึงเรื่องทันตกรรมไว้ตามนี้ครับ


"หลักเกณฑ์และเงื่อนไข

  • การถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด 
ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 300 บาทต่อครั้ง  และไม่เกิน 600 บาทต่อปี

  • กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน
ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500  บาท  ภายในระยะเวลา  5  ปีนับแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้น ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
             (ก)  1-5 ซี่   เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน  1,300 บาท
             (ข)  มากกว่า 5 ซึ่   เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท  

  • กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก
ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา  5  ปีนับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้น ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
             (ก)  ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง  เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน  2,400  บาท
             (ข)  ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง  เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน  4,400 บาท"

งงไม๊ครับ ?

อ่านดูเหมือนจะง่าย แต่จริงๆแล้วมันก็มีรายละเอียดที่คู่มือไม่ได้พูดถึงอยู่บ้างเหมือนกัน หมอจะแยกอธิบายเป็น 3 กรณีครับ



กรณีที่ 1 : การถอนฟัน-ผ่าฟันคุด และอุดฟัน
การรักษาใน 2 เรื่องนี้ ถ้าคนไข้มาถอนฟันหรืออุดฟัน 2 ซี่ในวันเดียวกัน หมอสามารถเขียนใบรับรองแพทย์และใบเสร็จให้ได้เป็น 2 ชุด โดยแยกซี่ละ 1 ชุด คนไข้สามารถใช้สิทธิเบิกได้ทั้ง 2 ชุดพร้อมๆกันเลย เพราะมันเป็นการรักษาฟัน"คนละซี่กัน"

กรณีที่ 2 : การขูดหินปูน
กรณีขูดหินปูนนั้น หมอสามารถเขียนใบรับรองแพทย์และใบเสร็จให้ได้ 1 ชุดต่อครั้งเท่านั้น ไม่สามารถแยกเป็น 2 ชุดได้ สาเหตุเกิดจาก สำนักงานประกันสังคมจะถือว่าเป็นการรักษา"ณ ตำแหน่งเดียวกัน" กรณีนี้จะแยกเป็น 2 ชุดได้ก็ต่อเมื่อวันที่ที่ทำการรักษาห่างกันอย่างน้อย 6 เดือนเท่านั้น นั่นหมายความว่า ถึงคุณหมอจะแยกเป็น 2 ชุดให้ แต่ตราบใดที่วันที่เป็นวันเดียวกันหรือห่างกันไม่ถึง 6 เดือน คนไข้ก็เบิกได้แค่ชุดเดียวอยู่ดีครับ

ในกรณีที่ 1 และ 2 คนไข้สามารถใช้ร่วมกันได้ เช่น อุดฟันอย่างเดียว2 ซี่ หรือถอนฟันอย่างเดียว 2 ซี่ หรือ อุด 1 ถอน 1 หรือขูดหินปูนกับอุดฟัน จะวันเดียวกันหรือคนละวัน ก็สามารถเบิกได้ทั้ง 2 ชุดครับ

**** เอกสารที่ต้องใช้ในการเบิกกรณีที่ 1 และ 2 ****

1. ใบเสร็จรับเงินที่ระบุชนิดการรักษา ซี่ฟันและตำแหน่งที่ทำการรักษา (กรณีถอน-ผ่าฟันคุด ระบุซี่ฟันอย่างเดียว) พร้อมลายเซ็นของผู้รับเงิน

2. แบบฟอร์ม สปส.2-16 (ปกติที่คลินิกจะมีไว้ให้) โดยส่วนบนของแบบฟอร์ม คนไข้ต้องนำไปกรอกเอง ส่วนล่าง (ใบรับรองแพทย์) คุณหมอผู้รักษาจะกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาของวันนั้นๆให้ พร้อมเซ็นชื่อ



กรณีที่ 3 : ฟันปลอมชนิดถอดได้
กรณีการใส่ฟันปลอมจะสามารถเบิกได้ 5 ปีต่อครั้ง ส่วนของจำนวนซี่ที่ใส่ (หรือเป็นฟันปลอมทั้งปาก) ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนและความกว้างของช่องว่างที่คนไข้ได้เคยถอนฟันไปครับ

**** เอกสารที่ต้องใช้ในการเบิกกรณีที่ 3 ****

1. ใบเสร็จรับเงิน โดยระบุรายละเอียดเหมือนกรณีที่ 1 และ 2 เพียงแต่ส่วนใหญ่แล้วการทำฟันปลอมมักใช้เวลาหลายครั้งและคนไข้มักชำระแบบผ่อนจ่าย ใบเสร็จอาจออกแยกเป็นครั้งๆแล้วแนบไปพร้อมกันหรือออกเป็นใบเดียวเมื่อชำระครบก็ได้

2. แบบฟอร์ม สปส.2-16 โดยระบุรายละเอียดเหมือนกรณีที่ 1 และ 2

3. สำเนาขั้นตอนการรักษา ซึ่งต้องมีรายละเอียดชื่อคลินิกที่ทำการรักษา ชื่อคนไข้พร้อมเลขเวชระเบียนของคลินิก และขั้นตอนการรักษาเฉพาะของฟันปลอมที่จะทำการเบิกตั้งแต่ครั้งแรกถึงครั้งสุดท้ายที่ทำการใส่ฟันให้คนไข้ (มีระบุวันที่ชัดเจน) โดยสำเนานี้คุณหมอผู้ทำการรักษาหรือคุณหมอเจ้าของร้านคนใดคนหนึ่งจะต้องเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องด้วย


สรุปข้อควรทราบ !!

การเบิกกรณีที่ 1 และ 2 นั้น คนไข้สามารถทำได้ทุกปี ปีละ 600 บาท ส่วนกรณีที่ 3 ทำได้ 5 ปีต่อครั้ง โดยคิดแยกกัน ยกตัวอย่างเช่น ถึงปีนี้จะเบิกส่วนของอุดฟันไปแล้ว 600 บาท ก็ยังสามารถเบิกส่วนของฟันปลอมได้อีกตามประเภทของฟันปลอมที่ทำ ส่วนปีหน้า จะเบิกได้ใหม่อีก 600 บาท แต่ฟันปลอมต้องรอไปอีก 5 ปีถึงจะเบิกได้อีกครับ


หากคนไข้มีข้อสงสัยอื่นๆ ก็สามารถเข้ามาสอบถามหรือโทรเข้ามาคุยกับคุณหมอหรือเจ้าหน้าที่ของคลินิกได้โดยตรงครับ

ทพ.ศิลา จิรวัฒโนทัย

วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การใช้ไหมขัดฟัน

มีหลายๆคนคิดว่า ไหมขัดฟันมีไว้เพื่อใช้กำจัดเศษอาหารที่ติดอยู่ระหว่างซอกฟันเท่านั้น ถ้าอาหารไม่ติดก็ไม่ต้องใช้ แต่ความจริงแล้วประโยชน์ของไหมขัดฟันไม่ได้มีแค่นั้นนะครับ

ในซอกฟันหลังจากที่เราแปรงฟันเสร็จแล้ว จะยังมีคราบอาหารและคราบจุลินทรีย์ที่เรามองไม่เห็นหลงเหลืออยู่ เนื่องมาจากข้อจำกัดของแปรงสีฟัน ที่จะทำความสะอาดได้ดีเฉพาะด้านหน้า-ด้านหลัง-ด้านบนของฟันเท่านั้น ในส่วนของซอกฟัน ขนแปรงจะไม่สามารถเข้าไปทำความสะอาดได้ ทำให้เราจำเป็นต้องใช้ไหมขัดฟันมาช่วยครับ

คำถามที่พบบ่อยๆเกี่ยวกับการใช้ไหมขัดฟัน

1. ควรใช้ไหมขัดฟันบ่อยแค่ไหน ?

ควรใช้ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ครับ มากกว่านี้ก็ไม่มีผลเสียอะไร สาเหตุที่เราควรใช้ทุกวันเนื่องจาก คราบฟันที่เราสามารถจะกำจัดออกได้โดยการแปรงฟันร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน จะเป็นคราบฟันที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่เกิน 24 ชั่วโมง หลังจากนั้น มันจะเริ่มมีแร่ธาตุต่างๆ มาจับและตกตะกอนที่คราบฟัน และเริ่มทำความสะอาดยากขึ้น เราไม่สามารถกำจัดมันออกได้ด้วยตัวเองอีกแล้ว ในที่สุดมันก็จะกลายสภาพเป็นหินปูนซึ่งต้องไปให้ทันตแพทย์เป็นผู้กำจัดออก

2. ใช้แล้วเหงือกจะร่น ฟันจะห่างหรือเปล่า ?

คำตอบคือ ไม่ ครับ ถ้าเราทำอย่างถูกวิธี เพราะตัวไหมจะมีความบางมาก ไม่มีทางดันให้ฟันเราห่างได้แน่ๆ และถ้าเราไม่ได้กดไหมแรงเกินไป ก็จะไม่ทำให้เหงือกร่นด้วยครับ


การเลือกให้ไหมขัดฟัน ปัจจุบันตามท้องตลาดมีให้เลือกทั้งแบบเคลือบขี้ผึ้ง-ไม่เคลือบขี้ผึ้ง หลายยี่ห้อ หลายความยาวครับ ผลที่ได้ไม่มีความแตกต่างมากนัก ใช้แบบไหนขึ้นอยู่กับความถนัดครับ

ทพ.ศิลา จิรวัฒโนทัย

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เสียวฟัน เกิดจากอะไร ?

อาการเสียวฟันเป็นอาการที่พบได้บ่อยๆ และเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ฟันผุ, มีหินปูนเกาะเยอะ, ฟันสึก, เหงือกร่น ฯลฯ


อาการเสียวฟันอาจเกิดได้ขณะดื่มน้ำร้อน-เย็นจัด เมื่อรับประทานของหวานๆ กัดอาหารเหนียวๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ฟันปกติที่ไม่ได้เป็นอะไรก็สามารถเกิดอาการดังกล่าวได้ แต่อาการจะเสียวไม่มาก เป็นช่วงสั้นๆ นานๆครั้ง
แต่หากอาการเสียวฟันที่เกิดขึ้น มีการเสียวฟันมาก เป็นทุกครั้งที่ดื่มน้ำร้อน-เย็น รับประทานของหวาน กัด-เคี้ยวอาหารเหนียวๆ หรือหลังจากเกิดอาการแล้วอาการไม่หายไปเป็นเวลานานหลายนาที ก็ควรรีบมาพบทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษา


การรักษาอาการเสียวฟันนั้น ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการหาสาเหตุของอาการเสียวฟันให้พบ และรักษาให้ตรงสาเหตุ เช่น อุดฟันที่ผุหรือสึก, ขูดหินปูน, กรอแก้ไขการสบฟัน เป็นต้น


ในส่วนของฟันปกติหรือฟันที่มีการสึกน้อยมากๆที่มีอาการเสียวฟันนั้น เราควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเสียวฟันและดูอาการก่อนที่จะำทำการรักษาอื่นๆ เช่น เลี่ยงการดื่มน้ำเย็นจัด เลี่ยงการเคี้ยวอาหารเหนียวมากๆหรือน้ำแข็ง อย่าแปรงฟันแรง ก็จะช่วยป้องกันอาการได้โดยที่เราไม่ต้องกรอฟัน หรือคนไข้บางรายทันตแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาสีฟันลดอาการเสียวฟันร่วมด้วยครับ

ทพ.ศิลา จิรวัฒโนทัย

วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

แปรงสีฟันไฟฟ้า จำเป็นหรือไม่?

เชื่อว่าหลายๆท่านน่าจะเคยได้ยินหรือเคยเห็นแปรงสีฟันไฟฟ้ามาบ้างแล้ว เนื่องจากในปัจจุบันมีการขายอย่างแพร่หลายขึ้นมาก และราคาก็ถูกลงกว่าเมื่อก่อนเยอะ จริงๆแล้วแปรงสีฟันไฟฟ้าต่างกับการแปรงปกติยังไง ? ประสิทธิภาพในการทำความสะอาดฟันดีกว่าหรือไม่ ? ลองดูข้อมูลเหล่านี้เพื่อประกอบการตัดสินใจนะครับ

เดิมทีแปรงสีฟันไฟฟ้าถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมหรือบังคับการเคลื่อนไหวของข้อมือได้ตามปกติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถแปรงฟันได้ง่ายขึ้น แต่ในปัจจุบันแปรงชนิดนี้ได้ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันกับคนทั่วไปด้วยเหมือนกัน

ในเรื่องประสิทธิภาพ ถ้าจะเปรียบเทียบความสามารถในการกำจัดคราบจุลินทรีย์บนผิวฟันระหว่างแปรงไฟฟ้ากับแปรงสีฟันแบบธรรมดา จากรายงานผลการวิจัยส่วนใหญ่พบว่ามีประสิทธิภาพพอๆกัน ไม่แตกต่าง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแปรงฟันของแต่ละบุคคลด้วยครับ ถ้าเราเป็นคนแปรงฟันเร็ว แปรงไม่ทั่ว การใช้แปรงไฟฟ้าก็อาจให้ผลดีกว่า เพราะข้อดีของแปรงไฟฟ้าคือ สะดวกสบายดี ใช้ง่าย ไม่ต้องขยับอะไรมากนักแค่วางให้ถูกผิวฟันให้ทั่วแล้วย้ายไปให้ครบทุกซี่ก็สะอาดแล้ว

ส่วนข้อเสียของแปรงไฟฟ้าก็คือราคาครับ ทั้งตัวแปรงและส่วนหัวแปรง (ซึ่งส่วนหัวแปรงนั้น เราก็ต้องเปลี่ยนใหม่ทุก 3-6 เดือนเหมือนแปรงธรรมดาครับ) ถึงจะมีราคาถูกลงกว่าเมื่อก่อนแล้วอย่างที่บอกไว้ตอนต้น แต่ก็ยังมีราคาสูง(มาก)อยู่ดีถ้าเทียบกับแปรงธรรมดา

จากข้อมูล โดยสรุปก็คือ เราควรใช้แปรงสีฟันชนิดนี้หรือไม่ ก็ขึ้นกับความพอใจ และเงินในกระเป๋าครับของเราครับ

ทพ.ศิลา จิรวัฒโนทัย

วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

ปวดฟัน ทำไงดี ?

อาการปวดฟัน แน่นอนว่าย่อมเป็นอาการไม่พึงประสงค์ของใครๆ หลายคนที่เคยมีประสบการณ์คงบอกได้ว่ามันทรมานแค่ไหน นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิทำงาน ทานอะไรไม่ได้ อ้าปากก็ไม่ได้ จะลุกจะนั่งจะนอน มันก็ปวดไปหมด

สำหรับการรักษาอาการปวดฟันนั้น เราคงต้องเริ่มจากการหาสาเหตุของอาการปวดกันก่อน

อาการปวดเกิดได้จากสาเหตุที่พบบ่อย ดังนี้
1. ฟันผุ-หัก-ร้าวทะลุถึงโพรงประสาทฟัน
อาการ : มักทำให้ปวดมาก ปวดจนนอนไม่หลับ อยู่ๆก็ปวดขึ้นมาเอง บางครั้งพบเหงือกบวม มีตุ่มหนองใกล้ตัวฟันร่วมด้วย
การรักษา : รักษารากฟันหรือถอนฟันที่เป็นสาเหตุ
2. ฟันผุ-หัก-ร้าวไม่ถึงประสาทฟัน แต่มีซอก-รูให้มีเศษอาหารเข้าไปติดได้
อาการ : มักจะปวดเมื่อรับประทานอาหารแล้วเศษอาหารไปติดที่ซอก-รูนั้นๆ อาการปวดมักเป็นอาการปวดตื้อๆ อาการลดลงหรือหายไปเมื่อเอาเศษอาหารออกไปได้
การรักษา : โดยการอุดฟันบริเวณที่ผุเป็นรู
3. เหงือกอักเสบ (gingivitis) หรือเป็นโรคเหงือก (periodontal disease) เกิดจากการมีหินปูนมากเป็นเวลานาน
อาการ : ปวดรำคาญ อาจมีเหงือกบวมๆยุบๆตำแหน่งเดิมหรือย้ายตำแหน่งไปเรื่อยๆ บางครั้งอาจพบว่ามีหนองซึมออกมาจากซอกฟันด้วย
การรักษา : ขูดหินปูน เกลารากฟัน อาจจำเป็นต้องมีการรักษาอื่นร่วมด้วย ในกรณีที่เป็นมากๆอาจต้องถอนฟัน
4. การสบฟันผิดปกติ (malocclusion)
อาการ : มักจะปวดเมื่อเคี้ยวอาหารหรือขณะฟันกระทบกัน
การรักษา : โดยการกรอแก้ไขการสบฟัน (occlusal adjustment)
5. โรคทางระบบประสาท (trigeminal neuralgia)
อาการ : มักจะปวดฟันมากกว่า 1 ซี่ ปวดทั้งบริเวณแบบระบุซี่ไม่ได้ อาจพบอาการปวดเหงือกหรือแก้มบริเวณนั้นร่วมด้วย
การรักษา : ใช้การรับประทานยา บางครั้งอาจต้องใช้การผ่าตัดร่วมด้วย
6. ปวดจากการอักเสบของเหงือกรอบฟันคุด
อาการ : ปวดตลอดเวลา อาจมีอาการปวดตั้งแต่ปวดรำคาญๆไปจนถึงปวดมาก มักมีเหงือกหรือแก้มบวมร่วมด้วย
การรักษา : ผ่า-ถอนฟันคุดที่เป็นสาเหตุออก (หากมีฟันคู่สบ แนะนำให้ถอนออกด้วย เพื่อป้องกันการงอกเกินและกัดเหงือกในอนาคต)
7. สาเหตุอื่นๆ เช่น ฟันที่เคยรักษารากฟันมานานแล้ว อาจเกิดการรั่วซึมของวัสดุหรือครอบฟัน ทำให้มีเชื้อโรครั่วเข้าไปในบริเวณที่รักษาแล้วทำให้เกิดหนองใหม่ขึ้น ซึ่งการรักษาก็จะเหมือนกรณีแรกคือรักษารากใหม่ หรือในกรณีของฟันที่เพิ่งอุดเสร็จใหม่ๆ อาจพบอาการปวดเสียวได้บ้างในกรณีที่รอยอุด-รอยผุเดิมลึกมาก ซึ่งอาการจะค่อยๆลดลงจนหายไปเองประมาณ 7-10 วัน

โดยเมื่อมีอาการปวดฟันเกิดขึ้นแล้ว เราควรตรวจหาสาเหตุของอาการให้เจอ เพื่อจะได้รักษาให้ตรงกับที่มาของอาการปวดนั้นๆ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนอาการลุกลาม เพราะการรักษาใดๆ หากเราเริ่มรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมให้ผลการรักษาที่ดีขึ้นครับ

ทพ.ศิลา จิรวัฒโนทัย