อีก 1 ช่องทางในการติดต่อ

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

น้ำลายและอาการปากแห้ง

น้ำลาย คือของเหลวที่ถูกผลิตขึ้นจากต่อมน้ำลาย ประกอบด้วยน้ำประมาณ 98% ส่วนที่เหลือเป็นอิเล็กโทรไลต์ เมือก สารยับยั้งแบคทีเรีย และเอนไซม์ชนิดต่างๆ เช่น เอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ที่สามารถย่อยแป้งให้กลายเป็นน้ำตาล และเอนไซม์ไลเพส (Lipase) ที่ช่วยย่อยไขมัน น้ำลายจึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการย่อยอาหาร

หน้าที่ที่ช่วยในการย่อยอาหารของน้ำลายอีกอย่างหนึ่ง คือทำให้อาหารเปียกและช่วยสร้างก้อนอาหารทำให้กลืนได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ น้ำลายยังช่วยชะล้างอาหารที่ติดอยู่ตามซอกฟันและปกป้องไม่ให้เกิดการเน่าเสียจากแบคทีเรีย ช่วยหล่อลื่นและปกป้องฟัน ลิ้น และเนื้อเยื่ออ่อนบางภายในช่องปาก

ในคนสุขภาพดี จะมีการผลิตน้ำลายออกมาประมาณ 0.75-1.5 ลิตรต่อวัน (เกือบทั้งหมดจะผลิตในช่วงที่เราตื่นเท่านั้น ขณะหลับการผลิตน้ำลายจะตกลงจนเกือบเป็นศูนย์)

แต่ขณะที่น้ำลายมีประโยชน์มากมาย ในทางกลับกัน น้ำลายก็ประกอบไปด้วยเซลล์แบคทีเรีย 500 ล้านเซลล์ต่อมิลลิลิตร ซึ่งผลผลิตของแบคทีเรียที่ถูกปล่อยปนกับน้ำลาย จะเป็นสาเหตุของอาการปากเหม็น (Halitosis) ได้ด้วยเหมือนกัน การกระตุ้นให้มีน้ำลายใหม่อยู่เสมอ การดูแลให้ปากสะอาด การดื่มน้ำสม่ำเสมอ การบ้วนปากหลังมื้ออาหาร จะช่วยแก้ไขในเรื่องของกลิ่นปากได้

อาการปากแห้งคืออะไร ?

อาการปากแห้ง หมายถึง สภาวะที่เรามีน้ำลายน้อยกว่าปกติ ทุกคนสามารถมีอาการปากแห้งได้เป็นครั้งคราว โดยเฉพาะเวลาที่เราตื่นเต้น กังวลใจ เสียใจหรือเครียด แต่หากเรามีอาการปากแห้งเป็นประจำ นอกจากจะทำให้รู้สึกไม่สบายปากแล้ว ยังอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆได้ เช่น การปล่อยทิ้งให้มีอาการปากแห้งนานๆ อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดเชื้อราในช่องปากได้ง่ายขึ้น มีปัญหาในการย่อยอาหาร ฟันผุง่าย มีกลิ่นปาก กลืนอาหารลำบาก เป็นต้น

เหตุที่ทำให้เกิดอาการปากแห้ง มักเกิดจากการที่ต่อมน้ำลายทำงานไม่ปกติซึ่งมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา

ยากว่า 400 ชนิด สามารถทำให้เกิดอาการปากแห้งได้ อาทิเช่น ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ปวด ยาขับปัสสาวะ และยาลดความดัน

โรคบางชนิด

โรคที่มีผลกระทบต่อต่อมน้ำลาย อาทิ โรคเบาหวาน โรคฮอดจ์กิน โรคพาร์กินสัน โรค HIV/AIDS และโรคตาแห้ง (Sjogren's syndrome)

การฉายรังสี

การฉายรังสีบริเวณศีรษะและลำคอ อาจทำลายต่อมน้ำลายได้ การสูญเสียน้ำลายอาจจะเป็นเพียงบางส่วนหรือทั้งหมดช่องปาก และอาจเป็นอาการชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเสียหายของต่อมน้ำลาย

เคมีบำบัด

ยาที่ใช้ในการรักษามะเร็งจะทำให้น้ำลายมีความเหนียวมากขึ้น ทำให้รู้สึกปากแห้ง

ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป

ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปจะส่งผลต่อต่อมน้ำลาย ทำให้ผู้หญิงมีอาการปากแห้งได้ในช่วงหลังจากมีประจำเดือน ช่วงตั้งครรภ์ และในวัยหมดประจำเดือน

การสูบผลิตภัณฑ์ยาสูบ

ผู้สูบไปป์ ซิการ์ และบุหรี่ จะทำให้มีอาการปากแห้ง

ปากแห้งรักษาได้หรือไม่ ?

การรักษาอาการปากแห้ง ควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ถ้าอาการปากแห้งเกิดจากการใช้ยาบางชนิด แพทย์อาจเปลี่ยนการสั่งยาหรือปรับปริมาณยาให้ ถ้าสาเหตุของอาการปากแห้งไม่สามารถรักษาได้ เราอาจใช้น้ำลายเทียมเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในปากไว้แทน

นอกจากนี้ อาจใช้วิธีจิบน้ำเปล่า หรือเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลบ่อยๆ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และน้ำอัดลมบางชนิด ไม่ใช้ยาสูบหรือแอลกอฮอล์ซึ่งทำให้ปากแห้ง

การเคี้ยวหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล หรือลูกอมปราศจากน้ำตาล ก็สามารถช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำลายได้ดี


หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากเพิ่มเติม
สามารถเขียนเข้ามาถามได้ที่ dental.d.clinic@gmail.com

และสำหรับผู้ใช้ Facebook สามารถเข้ามาเยี่ยมกันได้ที่
www.facebook.com/dentaldclinic

สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็น สอบถามเกี่ยวกับการรักษาได้ที่
Facebook ได้เหมือนกัน
อย่าลืมกด 'Like' เพื่อติดตามข่าวสารต่างๆของทางคลินิกด้วยนะครับ

ทพ.ศิลา จิรวัฒโนทัย